วันนี้มีข่าวน่าสนใจในวงการ FinTech คือ Ripple เพิ่งได้รับเงินลงทุน Series B 55 ล้านเหรียญ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินลงทุนที่ได้รับมากเป็นลำดับต้นๆ สำหรับ blockchain companies ทีเดียว และ SCB Digital Ventures ในกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ก็เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนในรอบนี้ด้วยครับ ถือเป็นหนึ่งในสามธนาคารที่ลงทุนใน Ripple จนถึงปัจจุบันนี้ (อีกสองแห่งคือ Santander กับ Standard Chartered) นอกจากนี้ก็ยังมี VC ที่มีชื่อเสียงหลายรายเช่น Andreessen Horowitz และ Google Ventures

เทคโนโลยีที่สำคัญของ Ripple คือการนำ blockchain มาใช้กับการชำระเงินระหว่างประเทศ (cross-border payment) ดังนั้นจะขอเกริ่นนำเล็กน้อยก่อนพูดถึง Ripple ด้านล่างนะครับ

Cross-border Payment

ปัจจุบันเรามีธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ การชำระเงินระหว่างประเทศจึงมีปริมาณมากขึ้นเช่นกัน การชำระเงินเหล่านี้ส่วนมากทำผ่านระบบธนาคารตัวแทนต่างประเทศ (Correspondent Banking) ครับ

แต่ละประเทศในโลกก็มีระบบชำระเงิน (Payment System) ของตัวเอง เช่นประเทศไทยมี BAHTNET ซึ่งปกติแล้วจะมีเฉพาะธนาคารที่ได้รับใบอนุญาตในประเทศนั้นๆ จึงจะเข้าถึงระบบชำระเงินของแต่ละประเทศได้ ถ้าผู้จ่าย (Sender) และผู้รับ (Receiver) อยู่ในประเทศเดียวกัน การชำระเงินที่เกิดขึ้นก็จะตรงไปตรงมาแบบนี้

same-country

ส่วนการชำระเงินระหว่างประเทศนั้นซับซ้อนขึ้น เพราะธนาคารของผู้จ่ายกับผู้รับไม่ได้อยู่บนระบบชำระเงินเดียวกัน จึงต้องอาศัยความสัมพันธ์ correspondent banking ระหว่างกัน โดยแต่ละธนาคารจะเปิดบัญชีของตัวเองไว้กับอีกธนาคารหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น Bank A กับ Bank B ที่อยู่คนละประเทศจะต้องทำแบบนี้

correspondent-banking01

สมมุติว่า Sender ต้องการจะส่งเงิน $100 ไปให้ Receiver สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ

  • Bank A เดบิต $100 ออกจาก Sender’s Account (เงินในบัญชีนี้น้อยลง)
  • Bank A ส่งข้อความ (message) ให้ Bank B
  • Bank B เดบิต $100 ออกจาก Bank A’s Account (เงินในบัญชีนี้น้อยลง)
  • ฺBank B เครดิต $100 เข้า Receiver’s Account (เงินในบัญชีนี้เพิ่มขึ้น)

ผลลัพธ์รวมก็คือ Sender มีเงินในบัญชีน้อยลง $100 และ Receiver มีเงินในบัญชีเพิ่มขึ้น $100 โดยที่จริงแล้วไม่ได้มีการเคลื่อนย้ายเงินระหว่างประเทศเลย

ด้านบนนี้คือในกรณีที่ธนาคารที่ Sender กับ Receiver ใช้ มีความสัมพันธ์ correspondent banking ระหว่างกันโดยตรง ซึ่งในชีวิตจริงอาจไม่เป็นแบบนั้น เพราะจะให้ทุกธนาคารในโลกต้องเปิดบัญชีกับทุกธนาคารที่เหลือ และคงเงินในบัญชีให้เพียงพอด้วยนั้นเป็นไปไม่ได้ (ในตัวอย่างข้างบน ถ้าตอนเริ่มต้น Bank A’s Account มีเงินคงเหลือน้อยกว่า $100 ก็จะไม่สามารถดำเนินการได้)

ดังนั้นจึงมักจะมีเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ไม่กี่แห่งในแต่ละประเทศที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกัน ส่วนธนาคารอื่นก็จะพึ่งพาความสัมพันธ์นี้ต่ออีกทอดหนึ่ง

correspondent-banking03-2
ดัดแปลงจาก Payments Views

ซึ่งในความเป็นจริงธุรกรรมอาจเกิดขึ้นหลายทอดมากกว่านี้ก็ได้ ถ้าหากว่าไม่มีไหนเลยใน Country A กับ Country B ที่มี correspondent banking relationship กัน ก็จะไปวิ่งผ่านประเทศ C, D, E จนกว่าจะมาเชื่อมกันได้ โดยการประสานงานทั้งหมดนี้มักจะทำผ่านระบบ SWIFT (บางครั้งเราได้ยินคำพูดว่า “โอนเงินผ่าน SWIFT” แต่ความจริง SWIFT เป็นระบบส่งข้อความครับ การชำระเงินจริงๆ เกิดขึ้นตามภาพด้านบน)

ซึ่งภาพคร่าวๆ นี้คงพอช่วยให้เข้าใจปัญหาสองอย่างของระบบชำระเงินระหว่างประเทศในปัจจุบันได้นะครับ นั่นก็คือ แพงและช้า

แพง เพราะธนาคารระหว่างทางแต่ละแห่งก็ไม่ได้ทำงานฟรีๆ ต้องมีค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะถ้าหากมีการแปลงสกุลเงินระหว่างทางด้วย

ช้า เพราะการกระโดดแต่ละทอดต้องมีการส่งข้อความ และการยืนยันธุรกรรม นอกจากนี้ระบบปัจจุบันมีลักษณะเป็น deferred net settlement คือแต่ละธนาคารจะไม่ได้ทำการตัดเงินในบัญชีระหว่างกันโดยทันที แต่จะรวบรวมไว้ทำครั้งเดียวตอนสิ้นวัน เพื่อหักกลบเงินที่โอนจาก ฺBank A ไป Bank B และ Bank B ไป Bank A ซึ่งทำให้แต่ละธนาคารสามารถคงเงินในบัญชีระหว่างกันเป็นจำนวนน้อยลงกว่าการทำ gross settlement

ซึ่ง Chris Larsen (CEO ของ Ripple) ให้สัมภาษณ์ว่าสิ่งที่ระบบชำระเงินปัจจุบันอาจใช้เวลาถึง 5 วันนั้น Ripple สามารถทำได้ภายใน 5 วินาที

มาดูกันครับว่ามันทำงานยังไง

Ripple ทำงานอย่างไร

น่าสนใจว่า แม้ Ripple จะใช้ blockchain technology เป็นแก่นของบริษัท แต่แทบจะไม่เอ่ยถึงคำว่า blockchain บน website ของตัวเองเลย

ยกตัวอย่างเช่นหน้า Solutions และหน้า Technology ลองหาดูจะพบว่าไม่มีคำว่า blockchain แม้แต่คำเดียวครับ แต่จะไปพูดถึงเรื่องความสามารถของระบบแทน เช่น instant settlement, immutability, lower cost, interoperability

ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีนะครับ ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็น blockchain หรือเทคโนโลยีอะไร มันก็สำคัญอยู่ที่ว่าทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้แค่ไหน

แต่ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วยังสนใจอยากรู้ว่า Ripple ใช้ blockchain ยังไงเพื่อให้ได้ความสามารถที่ว่ามานี้ ก็เชิญอ่านต่อได้เลยครับ

Ripple Network

ธนาคารที่ใช้ระบบของ Ripple จะติดตั้ง Ripple Connect และต่อเข้ากับระบบ Payment ของตัวเอง

ripple-connect

จากนั้นเมื่อต้องการส่ง Payment ตัว Ripple Connect ของสองฝั่งก็จะติดต่อกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้รับกับผู้ส่ง (เพื่อทำ KYC) และส่ง Quote ค่าธรรมเนียมกับค่าอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งลูกค้าธนาคารที่ต้องการทำรายการสามารถจะเห็นรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆ พวกนี้ได้ทั้งหมด ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะทำรายการต่อหรือไม่

ข้อมูลส่วนนี้ Ripple Connect ส่งผ่านกันด้วย HTTPS โดยตรง ไม่ได้ผ่าน blockchain และก็ไม่ได้วิ่งผ่านระบบของ Ripple ด้วย

video-capture01
Ripple เป็นระบบ backend ซึ่งไม่ได้มี App เป็นของตัวเอง ดังนั้นก็อยู่ที่ธนาคารที่ใช้ระบบด้วยว่าจะออกแบบหน้าตาการใช้งานยังไง

เมื่อลูกค้าตัดสินใจทำรายการ การชำระเงินสามารถจะทำโดย correspondent account ที่ธนาคารมีระหว่างกันโดยตรง หรือทำผ่านตัวกลาง (liquidity provider) ก็ได้ แต่จะไม่ต้องมีการกระโดด 3, 4, 5 ต่อ แบบที่ระบบ correspondent banking ปัจจุบัน

ripple-correspondent
ใช้ correspondent account
ripple-liquidity-provider
ใช้บริการ liquidity provider

โดยการทำรายการทั้งหมดจะถูกควบคุมโดยสิ่งที่เรียกว่า Interledger Protocol (ILP) เพื่อให้การชำระเงินเกิดขึ้น

ซึ่งตรงนี้เองครับที่่ใช้ blockchain

Interledger Protocol

รายการการชำระเงินบน Ripple Network จะถูกตรวจสอบและยืนยันโดย ILP Validator ซึ่งก็คือ Node ในเครือข่าย blockchain นั่นเอง ซึ่งทุกๆ ILP Validator บนเครือข่ายจะ “คุยกัน” เพื่อหาฉันทามติ (consensus) ของเครื่อข่าย เช่น แต่ละบัญชี (Ledger) มีเงินอยู่จำนวนเท่าไหร่ การโอนเงินครั้งนี้ valid หรือไม่ (มีเงินในบัญชีพอโอน) การโอนเงินเกิดขึ้นเมื่อเวลากี่โมง ฯลฯ โดยทั้งหมดนี้ใช้ Consensus Algorithm ของ Ripple เอง

ILP Validator แต่ละเครื่องมีบทบาทคล้ายๆ Bitcoin miner นั่นเอง (แต่ไม่ต้องใช้พลังประมวลผลมากนัก) โดยธนาคารที่ใช้ระบบของ Ripple อาจจะเลือกมี ILP Validator เป็นของตัวเองด้วย หรือจะไม่มีและใช้ consensus จากเครือข่ายก็ได้

ripple-ilp-validator
ตัวอย่าง Ledger ที่ถูกอัพเดตจากการโอนเงินดอลล่าร์ (ด้านซ้าย) ไปเป็นยูโร (ด้านขวา), จาก Ripple Solutions Guide 3.0

เมื่อ ILP Validator บรรลุ consensus ซึ่งใช้เวลาเป็นหลักวินาที จำนวนเงินในบัญชีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะถูกอัพเดต และลูกค้าก็จะได้รับคำยืนยันผ่านช่องทางที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะเป็น mobile app, internet banking, หรือผ่านสาขาก็ได้

video-capture02

Ripple เป็นระบบ backend สำหรับ cross-border payment ที่มีคุณสมบัติที่ดีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าและเวลาการทำรายการที่เร็วมาก เพราะเป็นระบบ real-time gross settlement ซึ่งธนาคารอาจจะใช้ backend นี้กับ product ได้หลายอย่าง เช่น

  • บริการ Remittance สำหรับลูกค้ารายย่อย
  • บริการชำระเงิน real-time สำหรับธุรกิจ
  • เป็น Ripple correspondent bank สำหรับธนาคารอื่นในประเทศที่ไม่มีระบบ Ripple ของตัวเอง

ripple-use-cases

Ripple หารายได้ยังไง

รายได้ของ Ripple มาจากค่า license software สำหรับ Ripple Connect ซึ่งคงจะผูกกับโวลุ่มของธุรกรรม และจาก integration service เพื่อเชื่อมต่อระบบของธนาคารเข้ากับ Ripple Connect ดังนั้นก็มองได้ว่าเป็นบริษัท Technology Service Provider

ตอนนี้ Ripple มีธนาคารที่ใช้งานอยู่แล้ว 15 ธนาคาร และอีก 30 ธนาคารที่กำลังทดสอบระบบอยู่

เร็วๆ นี้ Ripple เพิ่งจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ SBI ที่ญี่ปุ่น เพื่อขยายฐานลูกค้าที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย

XRP Cryptocurrency

นอกจากการใช้งานสำหรับชำระเงินระหว่างประเทศ Ripple ก็ยังสร้าง cryptocurrency ของตัวเองขึ้นมาชื่อ XRP ซึ่งสามารถใช้เป็น digital currency ด้วยตัวของมันเองได้แบบเดียวกับ Bitcoin และก็มีบทบาทใน Ripple Network ด้วยโดยเป็น bridge currency ของระบบ ซึ่งสามารถแลกเป็นสกุลเงินอื่นๆ บน Ripple Network ได้ (มีประโยชน์สำหรับ liquidity provider)

xrp

ในตอนนี้ XRP มี market cap เป็นอันดับสาม รองจาก Bitcoin และ Ethereum เท่านั้นเอง

Disclosure

ผู้เขียนทำงานอยู่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ SCB Digital Ventures และบทความเขียนขึ้นจากข้อมูลที่เปิดเผยทั่วไปทั้งหมด

4 COMMENTS

  1. ขอบคุณมากค่าาาาา ได้ความรู้เพิ่มขึ้นเยอะเลย ^_^

    • XRP ใช้งานมานานแล้วครับ ซื้อได้ตาม exchange ทั่วไป

Leave a Reply to Little Smile Cancel reply

Please enter your comment!
Please enter your name here