What is N26
N26 เป็น “ธนาคาร” ใหม่ เพิ่งเปิดตัวที่เยอรมันเมื่อตอนต้นปี 2015 โดยในวันเปิดตัวมีบริการหลักแค่สองอย่างคือ บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน กับบัตรมาสเตอร์การ์ดเท่านั้น แต่จุดเด่นก็คือการเป็น mobile-only bank (ก้าวข้าม mobile-first ไปแล้ว) ที่ถ้ามาดูวิธีการเปิดบัญชีแล้วจะเห็นว่าแทบไม่ต่างจากการลงแอปใหม่ในมือถือเลยครับ
- Download App (Play Store | App Store)
- สร้าง user account ใหม่ กรอกชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่
- กรอกข้อมูลเพิ่มเติม (KYC) เกิดประเทศไหน สัญชาติอะไร
- ยืนยัน e-mail address
- ยืนยันตัวตนลูกค้า (KYC) ผ่านแอปด้วย video call
ทั้งหมดนี้ใช้เวลาไม่เกิน 8 นาที! เราก็สามารถเริ่มใช้งานได้แล้ว โดยมีแอปบนโทรศัพท์มือถือ Tablet รวมไปถึง Smart Watch ด้วย
N26 ไม่มีสาขาแม้แต่สาขาเดียว แต่ลูกค้าสามารถฝาก/ถอนเงินสดได้ที่ตู้ ATM ของธนาคารอื่นๆ ส่วนการโอนเงินก็ทำในแอปได้เลย และบัตรมาสเตอร์การ์ดก็ใช้ได้เหมือนปกติ ไม่ว่าจะซื้อของออนไลน์หรือออฟไลน์
บัญชีเงินฝาก กับบัตรเดบิต สองอย่างก็ถือว่าครอบคลุมความต้องการของลูกค้าได้ระดับนึง อาจจะยังไม่ครบนักถ้าเทียบกับธนาคารทั่วไป แต่จุดเด่นของ N26 อยู่ที่รายละเอียดและ user experience ต่างหาก เช่น
- การแจ้งเตือน ด้วย push notification แทนที่จะใช้ SMS (ทำไมธนาคารไม่ทำซะที?)
- การ เปิด/ปิด หรือปรับฟีเจอร์ต่างๆ ได้ผ่านแอป เช่น ตั้งวงเงินในการโอน หรือจะปิดบัตรให้ใช้ตามร้านได้แต่ไม่ให้ใช้ซื้อของ online หรือปิดไม่ให้ใช้ในต่างประเทศ
- ใช้บัตรซื้อของต่างประเทศได้โดยไม่มีค่าบริการพิเศษ (ปกติแล้วเวลาเรารูดบัตรซื้อของที่ต่างประเทศ นอกจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว เรายังเสียค่าบริการเพิ่มเติมอีก 2.5-3.5%)
- ไม่มีค่าบริการรายเดือน (ค่ารักษาบัญชี)
น่าใช้ดีนะครับ

และภายใน 18 เดือนตั้งแต่เปิดมา N26 ก็เพิ่มผลิตภัณฑ์ธนาคารขึ้นมาอีกหลายอย่าง โดยตอนนี้ลูกค้าสามารถ
- โอนเงินข้ามประเทศได้ 19 สกุลเงิน
- ฝาก/ถอน เงินสดที่ร้านค้าและร้านสะดวกซื้อต่างๆ 6000 แห่ง
- เบิก overdraft ได้
- มีสถิติ personal finance ต่างๆ ให้ใช้วางแผนการเงิน มีทำเป็นรายงานสวยงามทีเดียว


ตอนนี้ N26 ให้บริการอยู่ในประเทศฝั่งยุโรป ได้แก่ Austria, France, Greece, Germany, Ireland, Italy, Spain และ Slovakia
How N26 works
ในมุมลูกค้า ถือว่า N26 มีบริการที่สะดวกและน่าสนใจมากทีเดียว แต่มุมนักพัฒนานั้นน่าสนใจยิ่งกว่าซะอีก
เพราะแม้ว่า “ธนาคาร” N26 จะเปิดให้บริการลูกค้ามาประมาณหนึ่งปีครึ่งแล้ว มีลูกค้ามากกว่า 2 แสนคน แต่เพิ่งได้ใบอนุญาติประกอบธุรกิจธนาคารจาก ECB เมื่อไม่กี่วันนี้เอง (พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อจาก NUMBER26)
อ้าว เฮ้ย! แล้วที่ผ่านๆ มานี่เป็นแบ้งค์เถื่อนหรือไง?
คำตอบก็คือ NUMBER26 สร้่าง “บริการธนาคาร” ขึ้นมาทำธุรกิจได้ในช่วงแรก ด้วย API และ Partnership ล้วนๆ เลยครับ
- บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน มี Wirecard Bank AG เป็นพาร์ตเนอร์ (และให้บริการภายใต้ใบอนุญาตของ Wirecard) โดยเงินฝากก็ได้รับการคุ้มครองเหมือนเงินฝากธนาคารทั่วไป
- บัตรเดบิต มี Mastercard เป็นพาร์ตเนอร์
- บริการโอนเงินข้ามประเทศ ใช้ระบบของ Transferwise
- การให้บริการผ่านร้านค้า/ร้านสะดวกซื้อ ก็ไม่ได้สร้างเครื่อข่ายขึ้นเอง แต่มีพาร์ตเนอร์คือ Barzahlen ซึ่งให้บริการรับจ่ายค่าสินค้าและบริการ (คล้ายๆ Paysbuy)
บริการทั้งหมดนี้ ใช้งานอยู่บนแอปของ NUMBER26 ได้อย่าง seamless ด้วยระบบที่เชื่อมเข้าด้วยกันด้วย API ของแต่ละเจ้า
ซึ่งกลยุทธนี้เองที่ทำให้ NUMBER26 สามารถสร้างธนาคารเสมือนขึ้นมาแข่งกับธนาคารดั้งเดิมได้ และสร้างความแตกต่างด้วย User Experience ที่ดีกว่า
โดยการที่เพิ่งได้รับใบอนุญาติธนาคารเป็นของตัวเอง ก็จะทำให้ N26 (ชื่อใหม่) สามารถให้บริการต่างๆ ได้ครอบคลุมมากขึ้นอีกถ้าหากไม่มีพาร์ตเนอร์ที่เหมาะสม เช่นบริการด้านการลงทุน บัตรเครดิต หรือเงินกู้ประเภทต่างๆ และประกัน
How N26 makes money
ตอนนี้ N26 มีรายได้ดอกเบี้ยจาก overdraft แต่ยังไม่มีต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝาก รายได้ก็มาจากแหล่ง fee income ของธนาคารทั่วไปนั่นเอง
แต่เนื่องจากโครงสร้างที่เกิดจากการ bundle ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของพาร์ตเนอร์ รายได้ค่าธรรมเนียมนี้ก็จะต้องแบ่งกับพาร์ตเนอร์ด้วย เช่น
- ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตประมาณ 2.5-3% แบ่งกับ Mastercard
- F/X spread และค่าบริการ 0.5% แบ่งกับ Transferwise
และสำหรับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จะมีเพิ่มเติมในอนาคต N26 บอกว่าก็มีความสุขกับการแบ่งค่าธรรมเนียมแบบนี้ถ้าหากมีพาร์ตเนอร์ที่เหมาะสม แต่ถ้าไม่มี ก็สามารถทำเองได้ เพราะตอนนี้ได้รับใบอนุญาตแล้ว
What can we learn from N26
1. ‘Best Of’ Partners
ข้อดีของการให้บริการทางการเงินด้วยการ bundle ผลิตภัณฑ์จากพาร์ตเนอร์ต่างๆ ของ N26 นอกจากจะลดเวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเอง และทำให้สามารถดำเนินการได้ด้วยทีมขนาดเล็กกว่าธนาคารทั่วไปแล้ว ข้อดีอีกข้อที่จะลืมไม่ได้เลยก็คือ การทำแบบนี้ช่วยให้ N26 สามารถ Pick-And-Choose พาร์ตเนอร์ที่ดีที่สุด เก่งที่สุด หรือถูกที่สุด สำหรับบริการแต่ละด้านได้
แต่ก่อนเราอาจจะมีธนาคารหนึ่งที่เด่นด้านจุดให้บริการที่ครอบคลุม อีกธนาคารหนึ่งมีกองทุนรวมที่โดดเด่น และอีกธนาคารหนึ่งมีดอกเบี้ยเงินฝากที่ดีกว่าเจ้าอื่น
แต่เมื่อเราค่อยๆ เห็นบริษัท FinTech เข้ามา Disrupt บริการเดี่ยวๆ พวกนี้มากขึ้น ไอเดียของ N26 ที่จับบริการของ FinTech ที่เป็นหัวกะทิของตลาด แล้วมามัดรวมกันนี่ถือว่าฉลาดมาก เพราะเท่ากับว่ามี product range ที่เป็น all star เลย
ในโลกที่ API นับจะมีความสำคัญมากขึ้นทุกๆ วัน ผมคิดว่าการที่แต่ละผู้เล่นโฟกัสทำในสิ่งที่เป็น core ของตัวให้ดีที่สุดกว่าทุกๆ คน และเชื่อมต่อบริการกันอย่างนี้ เป็นวิธีการทำธุรกิจแบบใหม่ที่มีศักยภาพสูงมากครับ
2. Be Lean
ตอนนี้ N26 มีลูกค้าประมาณ 2 แสนราย แต่มีพนักงานแค่ 140 คน เท่ากับลูกค้าประมาณ 1,400 คนต่อพนักงาน 1 คน
เทียบกับ Wells Fargo มีลูกค้าทั่วโลก 70 ล้านราย มีพนักงานประมาณ 264,000 คน เท่ากับลูกค้า 265 คน ต่อพนักงาน 1 คน
หรืออาจพูดว่า N26 ใช้พนักงาน 1 คน ให้บริการลูกค้าได้มากเป็น 5.5 เท่าของ Wells Fargo
ปกติเราจะคุ้นกับหลักการ Economy of Scale ยิ่งบริษัทใหญ่ก็ยิ่งได้เปรียบเรื่อง Scale แต่ในกรณีของ N26 นี้กลับกัน เพราะพอไม่มีสาขา การขยายฐานลูกค้าก็ไม่จำเป็นต้องขยายจำนวนพนักงานตามกันแบบเป็นเส้นตรง ทำให้สามารถ scale ธุรกิจแบบธนาคารได้ในลักษณะเหมือนธุรกิจออนไลน์
แน่นอนว่าหลักการนี้ใช้ไม่ได้กับทุกๆ กรณี แต่การมีวีธีควบคุมหรือลด cost ของเราให้น้อยกว่าของคู่แข่งได้ เป็น competitive advantage ที่ไม่เซ็กซี่แต่ทรงพลังมากครับ
3. Convert Visitor to Customer on Their Couch
อย่างที่เล่าไปแล้วตอนต้นว่าเราสามารถเปิดบัญชีกับ N26 ได้ภายใน 8 นาที โดยทุกอย่างจบได้บนมือถือ (ผมลองมาแล้ว) แม้กระทั่งกระบวนการ KYC ซึ่งปกติแล้วเป็นขั้นตอนที่มักจะต้องจบด้วยกระดาษ ก็สามาถทำได้ด้วยการ video call หรือการถ่าย selfie หน้าเราคู่กับบัตรประชาชน
ถ้าบริการไหนสามารถทำได้แบบนี้ โอกาสที่จะเติบโตด้วย virality / social media / word of mouth ก็จะสูงขึ้นมาก เพราะตีเหล็กต้องตีตอนที่ยังร้อน ถ้าดูโฆษณาตอนละครหลังข่าว ตื่นเช้ามาก็ลืมไปแล้ว แต่ถ้า download แอปมาแล้วเริ่มใช้งานได้เดี๋ยวนั้นเลย โอกาส convert ก็ดีกว่าแน่นอน