What is Venmo
ที่อเมริกา Venmo น่าจะเป็น Social Payment (หรือ P2P Payment) App ที่ดังที่สุดในตอนนี้
สิ่งที่ Venmo ทำได้หลักๆ ก็คือการรับหรือจ่ายเงินให้คนรู้จักของเรา เช่นไปกินข้าวกับเพื่อน พอนาย A จ่ายบิล คนอื่นๆ ก็ส่งเงินส่วนของตัวให้นาย A ด้วย Venmo
ที่คนใช้ Venmo กันเยอะก็เพราะมันใช้ง่าย เราสามารถส่งเงินที่มีอยู่แล้วในบัญชี Venmo หรือผูกบัญชีธนาคาร/บัตรเดบิตกับ Venmo แล้วมันก็จะไปตัดเงินจากบัญชีหรือจากบัตรเวลาเราจ่ายเงิน
ส่วนคนรับ ขอให้มีบัญชี Venmo ก็รับเงินได้ แล้วค่อยไปผูกบัญชีธนาคารเพื่อย้ายเงินเข้าบัญชีทีหลัง สมมุติว่าเพื่อนจะส่งเงินให้เราด้วย Venmo แต่เรายังไม่เคยใช้ ก็สามารถ download app และสร้าง account เดี๋ยวนั้นได้เลย ช่วยเพิ่มความ viral จนตอนนี้คำว่า Venmo กลายเป็นคำกริยาไปแล้ว
“ส่วนของเรา $15 เดี๋ยว Venmo ไปให้นะ”
การจ่ายเงินด้วย Venmo ไม่มีค่าธรรมเนียมถ้าจ่ายจากบัญชี Venmo หรือจากบัญชีธนาคาร แต่ถ้าจ่ายจากบัตรจะมีค่าธรรมเนียม 3% (คนโอนรับผิดชอบ คนรับไม่ต้องเสียเพิ่ม)
How Venmo works
Venmo ไม่ได้สร้างเครือข่าย Payment ขึ้นมาใหม่ แต่ใช้ระบบชำระเงินที่มีอยู่แล้วก็คือการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร และการจ่ายเงินผ่านบัตรเดบิต
ดังนั้น Venmo แค่ช่วยให้ทำธุรกรรมได้ง่ายขึ้น แต่ก็ยังถูกจำกัดด้วยระบบธนาคารและระบบบัตรที่มีอยู่
ปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือการโอนเงินระหว่างบัญชีที่อเมริกาทำผ่านระบบ ACH (Automated Clearing House) ซึ่งด้วยระบบนี้เงินจะเข้าบัญชีผู้รับตอนเช้าของอีกวันนึง (ถ้าจะโอนทันทีต้องใช้ wire transfer ซึ่งมีค่าธรรมเนียมสูงกว่า) ซึ่งจุดนี้ทำให้เกิดปัญหา Venmo Scam (ดูท้ายบทความ)
How Venmo makes money
ไม่ว่าจะจ่ายเงินแบบตัดบัญชีธนาคารหรือตัดบัตรเดบิต Venmo ก็ไม่ได้รายได้อะไร (ตัดบัญชีไม่มีค่าธรรมเนียม ตัดบัตรเดบิตคิด 3% ซึ่งก็จ่ายต่อให้ Visa/Mastercard)
และแน่นอนว่า Venmo ก็มีค่าใช้จ่าย
ดังนั้นตัวบริการจ่ายเงินกับเพื่อนนี่ขาดทุนสถานเดียว แต่สิ่งที่ Venmo ได้กลับมาก็คือฐานลูกค้าที่ใหญ่มาก และเป็นลูกค้าที่ loyal ด้วย คือเฉลี่ยแล้วใช้แอปส่งเงินกันอาทิตย์ละหลายครั้ง
แผนการสร้างรายได้ของ Venmo ก็คือการเปิดให้สามารถจ่ายเงินร้านค้าต่างๆ ด้วย Venmo เช่นเวลาสั่งอาหาร delivery หรือซื้อตั๋วหนัง ซึ่งก็จะคิด processing fee จากร้านค้า โดยคาดว่าจะคิดประมาณ 3% พอๆ กับ Paypal หรือบัตรเครดิตทั่วไป Dan Schulman (CEO ของ Paypal, ซึ่งซื้อ Venmo ไปเมื่อปี 2013) บอกว่าจะทำระบบนี้ให้เสร็จภายในปี 2016
ในการกระโดดเข้ามาในธุรกิจ payment processing นี้ Venmo จะชนกับยักษ์อีกรายก็คือ Square
ซึ่งน่าสนใจมากว่าจะเป็นยังไงระหว่าง Square ที่เริ่มต้นจากฝั่งร้านค้า กับ Venmo ที่เริ่มต้นจากฝั่งลูกค้า
What can we learn from Venmo
1. Positive Network Effect
ยิ่งมีคนใช้ Venmo มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้มันมีประโยชน์มากขึ้น เป็นประโยชน์จาก network effect ที่ชัดเจน
เหมือนยิ่งเพื่อนๆ เราอยู่บน Facebook หรือ LINE มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ network พวกนี้มีประโยชน์มากขึ้น ถึงเราจะอยากใช้ MySpace หรือ Telegram มากกว่า เราก็ยังถูกดึงให้ไปใช้ network ที่มีคนเยอะๆ อยู่ดี
การขยายฐานลูกค้าโดยยังไม่ Monetize ของ Venmo นั้นเป็นยุทธศาสตร์ที่ได้ผล เพราะ Payment App มี Positive Network Effect นี่เอง เมื่อเป็นเจ้าตลาดแล้วผู้เล่นรายอื่นก็เกิดได้ยาก
2. Minimized friction
- โหลดแอปมาแล้ว จะสร้าง user account ใหม่ก็ได้ แต่ถ้าขี้เกียจก็กด Sign in with Facebook ปุ่มเดียวจบ
- ผูกบัญชีธนาคาร ทำบนแอปได้เลย
- คนรับเงินแค่สร้าง user account ก็รับเงินได้ทันที ไปผูกบัญชีธนาคารทีหลังได้
3. ฟังก์ชั่น Request ช่วยแก้ปัญหาความลำบากใจในการทวงเงิน
สมมุติตอนเที่ยงกินข้าวกับเพื่อนแล้วเราจ่ายไปก่อน เดินกลับมาถึงออฟฟิศแล้วเพื่อนก็ยังไม่เอาเงินมาให้
ถึงตอนนี้บางคนเขินที่จะเดินไปทวง
ฟังดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่มันก็เป็นปัญหาจริงๆ สำหรับหลายคน
ถ้าใช้ Venmo สามารถส่ง Request ใส่จำนวนเงินและคำอธิบายได้ เช่น
$7.00 – “ค่าไก่ KFC ตอนเที่ยง”
ง่ายๆ ไม่เขิน เพื่อนคนที่ลืม พอได้ Request to Pay ก็กดจ่ายใน Venmo ปุ่มเดียวจบ
Reduce Friction and Solve Real Problem
ด้วยสามอย่างนี้ทำให้ Venmo กลายเป็นผู้นำ Socail Payment App ได้เลย ทั้งๆ ที่โดยพื้นฐานแล้วก็เป็นการโอนเงินธรรมดานั่นแหละ เป็น innovation ฝั่ง User Experience เกือบจะล้วนๆ
ถ้าสนใจอ่านเรื่องราวกำเนิด Venmo ผู้ก่อนตั้งเล่าไว้ยาวๆ ที่นี่
แอป UP2ME ของ SCB ก็มีฟังก์ชั่นเรียกเก็บเงินแบบนี้เหมือนกัน ผมใช้อยู่และชอบมาก แต่ก็จำกัดตรงที่ใช้ได้กับบัญชีธนาคาร SCB
Venmo Scam
เวลามีการจ่ายเงิน คนรับจะได้ notification จาก Venmo ทันที
แต่จะต้องรออีก 1-2 วัน ถึงจะ “cash out” โอนเงินที่ได้รับใน Venmo เข้าบัญชีธนาคารตัวเองได้
ในระหว่างนั้น คนจ่ายเงินอาจจะยกเลิกรายการ หรือเงินในบัญชีธนาคารของคนจ่ายอาจจะมีไม่พอก็ได้
ก็เลยเป็นช่องทางให้เกิด Venmo Scam ได้ เช่นเราโพสขายของออนไลน์ คนซื้อจ่ายด้วย Venmo พอเราได้ notification แบบข้างบนเราก็ส่งของให้ แต่พอวันรุ่งขึ้นปรากฎว่าเงินไม่เข้าจริงๆ
ซึ่งกรณีแบบนี้ Venmo ไม่รับผิดชอบ และที่จริงใน User Agreement ก็เขียนไว้เลยว่าห้ามจ่ายเงินซื้อของนะ ให้ใช้โอนเงินให้เฉพาะคนรู้จักเท่านั้น (แต่ก็ไม่ค่อยมีใครอ่านอยู่แล้ว)
Personal accounts may not be used to receive business, commercial or merchant transactions.