ตอนนี้เราเห็นบริษัท FinTech เกิดใหม่ให้บริการทางการเงินและแข่งขันกับธนาคารโดยตรงในหลายผลิตภัณฑ์ เช่น Marketplace Lending ที่เป็นคู่แข่งโดยตรงกับ Personal Loan / SME Loan แต่ก็มีบริษัท FinTech อีกหลายรายที่สร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมา “ต่อ” กับธนาคารที่เราเป็นลูกค้าอยู่แล้ว และช่วยให้ลูกค้าธนาคารได้รับประสพการณ์ที่ดีขึ้น

ตัวอย่างที่ดีของบริษัทในกลุ่มนี้ก็คือ Mint ซึ่งเป็นบริการ “รวบรวม” ข้อมูลการใช้บริการทางการเงินต่างๆ ของเรา เช่นการใช้จ่ายผ่านบัตร การผ่อนสินเชื่อบ้าน เงินลงทุนในกองทุน ซึ่งช่วยให้เราเห็นภาพรวมการใช้เงินและวางแผนต่างๆ ได้ดีขึ้น

mint-overview
ภาพจาก mint.com

เราเริ่มเห็นบริการ personal finance แบบนี้ในเมืองไทยแล้ว เช่น Piggipo

ซึ่งการที่ต้อง “ต่อ” กับข้อมูลของธนาคารนี้ก็ทำให้มีปัญหา นั่นคือ ธนาคารไม่ค่อยอยากจะให้ต่อซักเท่าไหร่

ในทางนึง ธนาคารก็มีความกังวลในด้านความปลอดภัย เพราะบ่อยครั้งการเชื่อมต่อนี้ทำโดย ลูกค้าธนาคารต้องให้ User name และ Password ที่ใช้เข้า Internet Banking กับบริษัทอย่าง Mint หรือ Piggipo เพื่อให้สามารถ sync ข้อมูลได้ นอกจากนั้นระบบของธนาคารก็ต้องทำงานหนักขึ้น เพราะ aggregation service มักจะ sync ข้อมูลบ่อยกว่าที่ลูกค้าจะทำเอง

นอกจากระบบต้องทำงานหนักขึ้นแล้ว ธนาคารก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเชื่อมต่อลักษณะนี้ ธนาคารอาจจะมีบริการ aggregation ของตัวเองที่อยากให้ลูกค้าใช้มากกว่า แถมถ้าลูกค้าไม่ต้องล็อกอินเข้ามาที่ site ของธนาคาร แต่ไปดูข้อมูลจาก Mint แทน โอกาส cross-sell ที่เคยมีก็หายไป แถม Mint อาจจะ cross-sell บริการของคู่แข่งให้ลูกค้าอีกต่างหาก

เราก็เลยเห็นธนาคารมีอาการ ฮึ่ม ฮึ่ม กับ aggregation service อยู่บ่อยๆ เช่นปลายปีที่แล้ว (2015) J.P. Morgan กับ Wells Fargo บล้อคไม่ให้ Mint เข้าถึงข้อมูลลูกค้าอยู่ช่วงนึงโดยอ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัย หรือธนาคารอาจจะบังคับให้ลูกค้าใช้ 2-factor authentication ซึ่งเป็นการเพิ่มความปลอดภัยของบัญชีลูกค้า และก็ทำให้ aggregation service ไม่สามารถ sync ข้อมูลได้ด้วย

Here comes the APIs

ถ้าธนาคารยืนยันที่จะบล้อคบริการใหม่ลักษณะนี้ก็คงทำได้ แต่ก็มีอีกหลายธนาคารที่เห็นว่าเป็นโอกาสปรับตัวให้กลายเป็น platform เชื่อมระหว่างผู้บริโภค กับบริการทางการเงินใหม่ๆ (เดี๋ยวจะเขียนเรื่อง platform business ยาวๆ อีกที) เพราะธนาคารมีข้อจำกัดและกฎเกณฑ์ทีต้องทำตามเยอะมาก การจะ innovate ให้ได้เร็วอย่าง startup นั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย

ซึ่งถ้าธนาคารและ FinTech จับมือกันแล้ว ก็สามารถที่จะเชื่อมต่อระบบเข้าด้วยกันโดยใช้ API ซึ่งมีข้อดีกว่าการใช้ user name / password หลายอย่าง

  • ลูกค้า ปลอดภัยมากขึ้นเพราะไม่ต้องให้ password กับใคร
  • FinTech ก็สบายขึ้น ไม่ต้องคอยระวังว่า user name กับ password ที่เก็บไว้จะโดนแฮ็คโดยผู้ไม่ประสงค์ดี (หรือพนักงานของตัวเอง)
  • ธนาคาร ก็ลดความกังวลใจเรื่องความปลอดภัยลง และการใช้ API ก็มีความยืดหยุ่นมากกว่า เช่น ให้อ่านข้อมูลได้อย่างเดียว หรือให้เลือกต่อข้อมูลเฉพาะบางส่วน เช่นเอาเฉพาะข้อมูลบัตรเครดิต แต่ไม่ต้องเอาข้อมูลบัญชีเงินฝากไปด้วย ฯลฯ

แต่ API ที่ดีและมีประโยชน์ก็ไม่ได้สร้างกันได้ง่ายๆ

การออกแบบ API ที่ดีต้องใช้ความชำนาญด้าน web service กับ infrastructure ซึ่งก็ยังมีการพัฒนาอยู่อย่างค่อนข้างเร็ว และ API ที่ดีก็ต้องอัพเดตตามเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ตอบโจทย์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ด้วย

(อย่างใกล้ๆ บ้านเรา OCBC ประกาศว่ามี API ให้ใช้แล้ว แต่เอาเข้าจริงทำได้แค่หาที่ตั้งสาขา ที่ตั้ง ATM กับดึงข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยน แบบนี้มันเอาไปทำอะไรได้เล๊า!)

ก็เลยมีบริษัทอย่าง Plaid เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้

Plaid Logo Color Horizontal

บริการของ Plaid ก็คือ API ที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถเชื่อมต่อกับข้อมูลและบริการสำคัญๆ ที่ผูกกับบัญชีธนาคาร เช่น

  • เข้าถึงข้อมูลการทำธุรกรรมต่างๆ – Level Money ใช้ข้อมูลนี้ช่วยให้ลูกค้ามองเห็นภาพเงินในบัญชีและวางแผนการใช้จ่ายส่วนตัว
  • ผูกบัญชี/เช็คยอดบัญชี/โอนเงิน/จ่ายเงิน – Stash ใช้การเชื่อมต่อนี้สร้างบริการที่ให้ลูกค้าค่อยๆ ลงทุนทีละเล็กละน้อยได้ ลูกค้าโอนเงินจากบัญชีธนาคารเข้าบัญชี Stash ขั้นต่ำครั้งละ $5 แล้วก็เลือกลงทุนในหุ้นหรือ ETF โดยซื้อเป็น “เสี้ยว” ของหุ้นได้ (ส่วนโอนเงินนี่ Plaid ไม่ได้ทำเอง แต่ทำผ่าน Stripe อีกที)

บริการพวกนี้หลายตัวน่าสนใจมาก และการที่มี API ดีๆ ให้ใช้ก็ทำให้ FinTech สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ได้เร็วขึ้น ปลอดภัยขึ้น ส่วนลูกค้าก็ได้ประสพการณ์ที่ดีขึ้นด้วย นอนอยู่บ้านก็ผูกบัญชีธนาคารได้

plaid-diagram
ภาพจาก Gordon Wintrob / Medium

ตอนนี้ API ของ Plaid ต่อกับธนาคารในอเมริกาได้เกือบทุกแห่ง (Top 10 นี่มาครบ) จะเห็นว่าบางธนาคารก็ต่อครบทุก API บางธนาคารก็ต่อเฉพาะบาง API ตามความสมัครใจ

plaid-institutions
จาก Plaid API Doc ณ วันที่เขียนบทความ

ซึ่งน่าสนใจขนาดนี้ Goldman Sach ก็เลยเพิ่งลงทุน Series B กับ Plaid ไป 44 ล้านเหรียญ


แถม

API as a product นี่ยังค่อนข้างใหม่ แต่ก็มีบริษัทที่กระโดดเข้ามาจับหลายเจ้าแล้ว โดย vertical อื่นนอกจากการเงินที่เป็นเป้าหมายของ API Company พวกนี้ก็คือ Healthcare

api-as-product
SlideShare: Vertical APIs as Core Product โดย Zak Schwarzman

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here