แม้ว่า Bitcoin จะเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2009 แต่เทคโนโลยี Blockchain นั้นเพิ่งจะมาเป็นที่พูดถึงกันมากในช่วง 2015-2016 นี้เอง และกลายเป็นเทรนด์หนึ่งที่ทุกวงการให้ความสนใจอย่างมาก ทั้งในกลุ่มนักพัฒนา บริษัท IT ทั้งเล็กและใหญ่ ธนาคาร ไปจนถึงหน่วยงานรัฐบาลในหลายๆ ประเทศ

เทคโนโลยี blockchain มีความ “เปิด” ในหลายด้าน ตั้งแต่การพัฒนาแบบ opensource ของโครงการส่วนใหญ่ ไปจนถึงคุณสมบัติของ blockchain เองที่มีลักษณะ decentralized และไม่ว่าใครก็ไม่สามารถควบคุมหรือบังคับคนอื่นๆ ในเครือข่าย blockchain ได้โดยฝ่ายเดียว เช่นถ้าวันนึง Bitcoin Foundtion เกิดอยากจะเปลี่ยนกติกาบางอย่าง แล้วคนอื่นๆ ในเครือข่ายไม่เอาด้วย ตัว Bitcoin Foundation ก็ไม่สามารถหักคอบังคับเปลี่ยน protocol ได้เอง ถ้า node ต่างๆ ไม่ยอมเปลี่ยน

ในความเปิดนี้ มีปรากฎการณ์ 2 อย่างที่ผมคิดว่าน่าสนใจ คือ Whitepaper และ Initial Coin Offering

Technical Whitepaper

สำหรับคนที่อยากติดตามวงการ blockchain จากภายนอก ก็สามารถตามอ่านได้จากสื่อต่างๆ เพราะตอนนี้กลายเป็นกระแสหลักไปแล้ว แต่ถ้าใครอยากเป็น คนทำ มากกว่า คนดู ก็ต้องพยายามเข้าใจตัวเทคโนโลยีของโครงการต่างๆ ในระดับที่ลึกขึ้น

แม้ว่าตอนนี้จะมีโครงการ blockchain ใหม่เกิดขึ้นแทบทุกวัน และแต่ละโครงการก็ขยับเร็วมาก แต่คนที่สนใจมีแหล่งข้อมูลที่ดีมากอันนึงที่จะมองข้ามไม่ได้เลย ก็คือ Whitepaper ของโครงการต่างๆ

Whitepaper ก็คือเอกสารที่บรรยายแนวความคิด เทคนิกทางคณิตศาสตร์ รวมทั้งโมเดลทางธุรกิจของโครงการต่างๆ ซึ่งมักจะถูกเขียนขึ้นมากเพื่อเรียกความสนใน และเชิญชวนนักพัฒนาและผู้ใช้งาน Whitepaper ช่วยให้นักพัฒนาตัดสินใจได้ว่า โครงการไหนมีความน่าสนใจ น่าเข้ามาเป็นส่วนร่วม

ซึ่ง Bitcoin นั้นก็มีจุดเริ่มต้นมาจาก Whitepaper ฉบับนี้ที่เขียนโดย Satoshi Nakamoto (นามแฝง) นั่นเอง

Whitepaper มักจะมีรายละเอียดทางเทคนิกค่อนข้างมาก แต่เราไม่จำเป็นต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ก็สามารถเข้าใจส่วนที่สำคัญหลายๆ ส่วนได้ เช่น ปัญหาที่โครงการพยายามจะแก้ หรือโมเดลทางธุรกิจของโครงการ เป็นต้น

ก่อนที่ผมจะลงทุน (จำนวนเล็กน้อย) ในโครงการต่างๆ ก็จะพยายามอ่าน Whitepaper ก่อนเพื่อตัดสินใจเอง ว่าโครงการนี้มีอนาคตหรือไม่ เช่น

  • Ethereum Whitepaper
  • Digix Whitepaper
  • OmiseGo Whitepaper

Initial Coin Offering (ICO)

เมื่อ Whitepaper ก็อ่านแล้ว ติดตามโครงการบน Reddit หรือ Slack แล้วจนเชื่อว่าเป็นของดีมีอนาคต ก็มาถึงการลงทุนในโครงการต่างๆ ซึ่งมักจะใช้วิธี Initial Coin Offering หรือ ICO

คำว่า Initial Coin Offering อาจจะไม่คุ้นหู แต่ถ้าใช้คำว่า Crowd Funding น่าจะเคยได้ยินกัน ซึ่งทั้งสองอย่างก็คล้ายๆ กันคือเป็นกระบวนการเชิญชวนให้คนทั่วไปมาลงขันกัน เพื่อนำเงินที่ได้ไปทำอะไรบางอย่าง

เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้การทำ ICO๋ กลายเป็นวิธีการระดมเงินทุนที่ได้รับความนิยม มาจากความสำเร็จของโครงการ Ethereum ซึ่งได้เงิน 18 ล้านเหรียญจากการทำ ICO เมื่อปี 2014 และนำไปพัฒนาโครงการจนประสพความสำเร็จเป็นอย่างมาก กลายเป็นต้นแบบให้โปรเจค blockchain ต่างๆ จนการทำ ICO กลายเป็นวิธีการรวบรวมเงินทุนมาตรฐานไปแล้ว สำหรับโปรเจคด้าน blockchain ทุกวันนี้

ชื่อ ICO นั้นคล้ายกับ IPO (Initial Public Offering) แต่มีความแตกต่างที่สำคัญหลายอย่าง

IPO เป็นการขายหุ้นที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของร่วมของบริษัทนั้นๆ เพื่อระดมเงินทุนมาใช้ขยายกิจการ หมายความว่า IPO เป็นเครื่องมือสำหรับบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว

ในขณะที่ ICO เป็นการขาย เหรียญ (coin) หรือ Token เพื่อระดมเงินมาใช้เริ่มต้นโปรเจค โดยการซื้อ Token ในช่วงการทำ ICO นั้นก็มักจะต้องซื้อด้วย cryptocurrency หรือ token กระแสหลักเช่น BTC หรือ ETH นั่นเอง

What is An Initial Coin Offering? ภาพจาก Blockgeeks

คนที่ถือ Token จะมีสิทธิ์ออกเสียงตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับโปรเจคนั้นๆ ในมุมนี้ Token ก็ทำตัวเหมือนหุ้น และบน blockchain ส่วนใหญ่ Token ยังทำตัวเป็นเงินตราที่ใช้ทำ transaction ด้วย

ความแตกต่างที่สำคัญอีกอย่างคือ ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายที่รองรับ และให้ความคุ้มครองคนที่ถือ Token แบบเดียวกับการถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นปัญหาด้านธรรมาภิบาลของโปรเจคเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง

การเก็งกำไรจาก ICO

หลายคนมอง ICO เป็นโอกาสรวย คล้ายๆ กับการซื้อหุ้นตอน IPO ถ้าบริษัทเติบโตได้ดีหุ้นก็อาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้เป็นเท่าตัว ซึ่งโอกาสรวยจาก ICO นี่หลายคนมองว่าหอมหวานยิ่งกว่าซะอีก เพราะมูลค่าอาจเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า 100 เท่าได้ เช่น 1 ETH ขายที่ราคาประมาณ $0.3 ตอนช่วงพรีเซล แต่ตอนนี้ราคาขึ้นมาจนถึง $180 หรือ 600 เท่า

เวลามีโปรเจคใหม่ๆ ที่น่าสนใจเกิดขึ้น เราจึงมักเห็นมีนักเก็งกำไรเข้าไปถามว่า “จะทำ ICO เมื่อไหร่?” หลายคนดูไม่ได้สนใจตัวรายละเอียดโครงการมาก กะทำกำไรในวันสองวัน ซึ่งผู้เขียนคิดว่าน่ากังวลพอสมควร เพราะราคา Token มักจะวิ่งขึ้นเร็วมากด้วย hype มากกว่าด้วยผลลัพธ์ความสำเร็จของโครงการ ถ้าฟองสบู่แตกเมื่อไหร่ โครงการใหม่ๆ ในอนาคตอาจจะเริ่มมีปัญหาในการระดมเงินทุนครับ

OmiseGo

ถ้าอ่านแล้วสนใจ อยากเชิญให้ลองไปดูรายละเอียดโครงการ OmiseGo ทั้ง Whitepaper และรายละเอียด ICO ครับ Omise เป็นบริษัทตั้งอยู่ในเมืองไทยนี่เอง และไอเดียของ OmiseGo ที่เป็นตัวเชื่อมให้ e-Wallet ต่างๆ ทำงานร่วมกันได้ก็น่าสนใจครับ (ควรอ่าน Whitepaper เองนะครับ)

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here