การพัฒนาระบบการเงินสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ แต่ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวก็มีความสำคัญ ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องก้บระบบพร้อมเพย์ เพื่อการเลือกใช้งานอย่างเข้าใจ

ตอนนี้ก็เดือนกรกฎาคม 2559 แล้ว ทุกๆ ธนาคารได้เริ่มเปิดรับลงทะเบียนพร้อมเพย์และทำการประชาสัมพันธ์บริการใหม่นี้ ว่ามีประโยชน์ยังไงบ้าง (อ่านเพิ่มเติม สัมภาษณ์ KBank เรื่องพร้อมเพย์)

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็เห็นหลายแหล่ง ทั้งสื่อและคนทั่วไป ที่แสดงความกังวลกับการเปลี่ยนแปลงในระบบการชำระเงินครั้งนี้ ซึ่งผมอยากใช้เวลาซักเล็กน้อยวิเคราะห์ข้อเท็จจริง และหวังว่าจะช่วยให้เราเข้าใจ และตัดสินใจด้วยตัวเองได้ดีขึ้น ว่าจะใช้หรือไม่ใช้พร้อมเพย์ และมีอะไรที่ควรระมัดระวังบ้าง

(ส่วนประโยชน์รวมของระบบจากการใช้เงินสดให้น้อยลงนั้น ชัดเจนนะครับ ว่าทั้งประเทศเราจะประหยัดไปได้เยอะมาก)

โดยจะเปรียบเทียบกับระบบก่อนพร้อมเพย์ เพราะการเปรียบเทียบจะทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นครับ

ในเฟสแรกที่จะเปิดให้บริการในปีนี้ เราสามารถผูกเครื่องยืนยันตัวตนสองอย่างเข้ากับบัญชีธนาคาร คือหมายเลขบัตรประชาชนและหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ส่วนการใช้งานในเฟสแรกก็มีอยู่สองอย่าง คือการโอนเงินกันระหว่างบุคคลทั่วไป กับการรับเงินจากรัฐบาล

promptpay-table1

ความกังวลทั้งในเรื่องความปลอดภัย และเรื่องความเป็นส่วนตัว มีรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้างในกรณี 1,2, และ 3 ดังนั้นเราจะมาแยกดูกันทีละกรณี

1 รับเงินจากรัฐบาลด้วยการผูกบัตรประชาชน

ตอนนี้ เมื่อเราจะรับเงินจากรัฐบาล จะมีรูปแบบต่างๆ กันไป ตัวอย่างเช่น

promptpay-table2

 

ในกรณีต่างๆ เหล่านี้ ระบบพร้อมเพย์จะช่วยลดความยุ่งยากของกระบวนการลงได้ เช่นกรณีเงินคืนภาษีหรือเงินบำนาญประกันสังคม เมื่อถึงเวลาที่เราควรจะได้รับ เงินก็สามารถจะโอนเข้าบัญชีเราได้ผ่านพร้อมเพย์ทันที โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ ด้วยระบบปัจจุบันหลายคนอาจไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์ หรือไม่รู้ว่าต้องดำเนินการยังไง ก็อาจเสียประโยชน์

ส่วนเงินช่วยเหลือต่างๆ เรามักจะเห็นวิธีการรับเงิน จะต้องโอนเข้าบัญชีธนาคารเฉพาะกิจ เช่นออมสิน หรือธกส. ถ้าใครที่ไม่มีบัญชีธนาคารเหล่านี้ ก็ต้องไปรับเงินด้วยตัวเอง ระบบพร้อมเพย์จะช่วยลดปัญหาได้ทั้งสองกรณี

ความกังวลด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ในกรณีรับเงินจากรัฐบาลด้วยการผูกบัตรประชาชน

ถ้าเราใช้งานพร้อมเพย์อย่างจำกัด โดยเลือกที่จะผูกเฉพาะหมายเลขบัตรประชาชน และใช้เฉพาะเพื่อการรับเงินและสวัสดิการต่างๆ จากรัฐบาล ผมเชื่อว่ามีแต่ประโยชน์และความสะดวกสบาย ไม่มีอะไรต้องกังวลเลย รัฐบาลและหน่วยงานรัฐต่างๆ ก็รู้หมายเลขบัตรประชาชนของเราอยู่แล้ว

2 โอนเงินระหว่างบุคคลด้วยการผูกหมายเลขโทรศัพท์มือถือ

อย่างแรกที่เราต้องไม่ลืมคือ ในการโอนเงิน เราใช้พร้อมเพย์เหมือนกับใช้หมายเลขบัญชีธนาคารนั่นเอง

ในกรณีที่ 2 นี้ ถ้าเราเป็นคนรับเงิน ก็จะบอกหมายเลขโทรศัพท์มือถือแทนที่จะบอกหมายเลขบัญชีธนาคาร (หลายคน รวมทั้งผมด้วย จำหมายเลขบัญชีธนาคารตัวเองไม่ได้ จะต้องใช้ทีก็หากันที)

ส่วนคนจ่ายเงิน ไม่ว่าจะทำรายการที่ตู้ ATM หรือช่องทางไหน ก็ทำแบบเดียวกัน เพียงแต่เลือก “โอนด้วยพร้อมเพย์” และใส่หมายเลขโทรศัพท์คนรับเงิน แทนที่จะใส่หมายเลขบัญชีธนาคาร

ก่อนกดยืนยันก็จะเห็นชื่อบัญชีคนรับเงินเหมือนเดิม

ความกังวลด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ในกรณีโอนเงินระหว่างบุคคลด้วยการผูกหมายเลขโทรศัพท์มือถือ

ด้านคนจ่ายเงิน ความปลอดภัยเท่าเดิม (ยืนยันชื่อคนรับเงินได้เหมือนเดิม) ความเป็นส่วนตัวเท่าเดิม (คนรับเงินก็ไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับเรามากกว่าแบบเดิม)

ด้านคนรับเงิน แทนที่จะบอกหมายเลขบัญชีธนาคาร เปลี่ยนเป็นบอกหมายเลขโทรศัพท์

ความเป็นส่วนตัวลดลง เพราะคนที่ได้เบอร์โทรศัพท์ไป สามารถโทรมาหาเราหรือส่ง SMS มาได้

ความปลอดภัย คนที่ได้เบอร์โทรศัพท์ไป เอาไปใช้ขโมยเงินออกจากบัญชีของเราไม่ได้ (เหมือนการที่ใครมีเบอร์บัญชีเราเท่านั้น ก็ขโมยเงินเราไม่ได้) แต่อีกด้านหนึ่งอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการที่อีกฝ่ายจะรู้ ว่าหมายเลขโทรศัพท์นี้ผูกกับบัญชีธนาคารไว้นะ

มิจฉาชีพ มักจะสรรหากลโกงต่างๆ เพื่อหลอกลวงทำประโยชน์จากเราในรูปแบบที่คาดเดาได้ยาก การรู้ว่าหมายเลขโทรศัพท์มีการผูกกับบัญชีธนาคารไว้ (และรู้ชื่อเจ้าของบัญชี แต่ไม่รู้ว่าธนาคารไหน และหมายเลขบัญชีธนาคารคืออะไร) ก็อาจเป็นช่องทางให้พวก 18 มงกุฎหาวิธีมาหลอกลวงได้ เช่น ส่ง SMS ปลอม เพื่อหลอกว่ามีการโอนเงินแล้วทั้งที่ยังไม่ได้โอน เราควรจะใช้ความระมัดระวังตามปกติ เช่นเช็คยอดบัญชีด้วยตัวเอง ว่ามีการโอนเงินเกิดขึ้นจริง แทนที่จะเชื่อ SMS เลย ซึ่งถึงไม่ใช้พร้อมเพย์ก็ควรทำอยู่แล้วถ้าหากเป็นการรับเงินจากคนที่เราไม่รู้จักมาก่อน

3 โอนเงินระหว่างบุคคลด้วยการผูกหมายเลขบัตรประชาชน

เช่นเดียวกับกรณีที่ 2 คนจ่ายเงิน และคนรับเงิน ใช้หมายเลขบัตรประชาชนของคนรับเงิน แทนการใช้หมายเลขบัญชีธนาคาร นอกนั้นเหมือนเดิม

ความกังวลด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ในกรณีโอนเงินระหว่างบุคคลด้วยการผูกหมายเลขบัตรประชาชน

ด้านคนจ่ายเงิน ความปลอดภัยเท่าเดิม (ยืนยันชื่อคนรับเงินได้เหมือนเดิม) ความเป็นส่วนตัวเท่าเดิม (คนรับเงินก็ไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับเรามากกว่าแบบเดิม)

ด้านคนรับเงิน แทนที่จะบอกหมายเลขบัญชีธนาคาร เปลี่ยนเป็นบอกหมายเลขบัตรประชาชน

ในกรณีบัตรประชาชน ผมคิดว่ามีข้อควรระวังด้านความปลอดภัยอยู่บ้าง

แม้ว่าการรู้หมายเลขบัตรประชาชน จะไม่สามารถนำไปใช้ในทางไม่ดีอะไรได้โดยตรง (ไม่อย่างนั้นเวลาแลกบัตรเข้าอาคารต่างๆ ก็คงโดนกันหมดแล้ว)

แต่หลายครั้งหมายเลขบัตรประชาชนถูกใช้ยืนยันตัวตนของเรา เช่นเวลาทำธุรกรรมทางโทรศัพท์ หรือมิจฉาชีพอาจโทรมาโดยอ้างตัวว่าเป็นสรรพากร/ธนาคาร/ฯลฯ การที่มีหมายเลขบัตรอยู่บางครั้งก็ทำให้คนหลงเชื่อได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อประกอบกับข้อมูลอื่นๆ

สรุปสำหรับกรณี 2 และ 3 ก็คือ การใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือหมายเลขบัตรประชาชนแทนหมายเลขบัญชี ไม่ได้ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยมากขึ้นโดยตรง แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงจาก phishing บ้าง จะยังไงก็ควรระวังถ้ามีโทรศัพท์หรือ SMS แปลกๆ เข้ามา (เหมือนปัจจุบัน)

แล้วตัวระบบเครือข่ายพร้อมเพย์ มีความปลอดภัยหรือเปล่า ใช้แล้วจะสูญเสียความเป็นส่วนตัวไหม

ตัวกลางที่ทำให้ระบบพร้อมเพย์ทำงานได้ก็คือ National ITMX (แต่ก่อนชื่อ เอทีเอ็ม พูล) ซึ่งจัดตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือของธนาคารต่างๆ และบริหารโดยตัวแทนที่ส่งมาจากแต่ละธนาคาร ซึ่ง ITMX ก็รับบทบาทเป็นตัวกลางของระบบการชำระเงินระหว่างธนาคารมาตั้งนานแล้ว

ที่เราถอนเงินหรือสอบถามยอดบัญชี ผ่าน ATM คนละธนาคารได้ ก็ผ่าน ITMX นี่เอง การโอนเงินต่างธนาคาร หรือการตัดบัดเดบิต รายการก็ต้องผ่านระบบของ ITMX เช่นกัน

ดังนั้นการที่ พร้อมเพย์ ทำงานผ่าน ITMX นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยครับ เพียงแต่เปลี่ยนลักษณะการทำงานไปบ้าง

โดยภายใต้ระบบพร้อมเพย์ เมื่อลูกค้าลงทะเบียนผูกหมายเลขบัตรประชาชนหรือหมายเลยโทรศัพท์มือถือกับธนาคาร ก เสร็จแล้ว ธนาคาร ก ก็จะแจ้งไปที่ ITMX ว่า หมายเลขนี้ลงทะเบียนไว้แล้ว กับธนาคาร ก นะ

หลังจากนั้น เมื่อใครก็ตามโอนเงิน โดยใช้หมายเลขดังกล่าว ITMX ก็จะรู้ว่า ต้องไปถามธนาคาร ก ว่าบัญชีที่ผูกไว้คือบัญชีไหน เพื่อจะได้ทำรายการได้ถูกบัญชี

คนที่จะเชื่อมต่อกับระบบของ ITMX ได้นั้น ก็มีเฉพาะธนาคารต่างๆ เท่านั้น โดยต่อกันด้วย Private Network ไม่ใช่อินเตอร์เน็ต คนทั่วไปอย่างเราไม่มีสิทธิ์ไปยุ่มย่าม และก็ใช้เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยระดับเดียวกับธนาคาร

ส่วนเรื่องความเป็นส่วนตัว ข้อมูลการใช้จ่ายอะไรที่ปัจจุบันธนาคารมีอยู่แล้ว ก็มีต่อไป ข้อมูลการโอนเงินข้ามธนาคารที่ปัจจุบัน ITMX มีอยู่แล้ว ก็มีต่อไป ไม่แตกต่างเลย

เพราะการที่องค์กรพวกนี้ “มีข้อมูลของเราอยู่ในระบบ” ไม่ได้หมายความว่าสามารถเอาไปใช้อะไรก็ได้ตามใจ เรื่องการปกป้องรักษาข้อมูลของลูกค้าถือเป็นเรื่องซีเรียสมากในธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ

แล้วการใช้พร้อมเพย์เกี่ยวกับการถูกตรวจสอบภาษีไหม

ในเฟสแรก พร้อมเพย์ทำได้เฉพาะโอนเงินระหว่างบุคคล

โดยสำหรับพ่อค้าแม่ค้า ที่ขายของและรับเงินด้วยการโอนผ่านธนาคารอยู่แล้วนั้น ไม่ได้แตกต่างอะไรเลยครับ เพราะจะระบบเก่าหรือระบบพร้อมเพย์ ข้อมูลก็วิ่งผ่าน ITMX อยู่แล้ว (ถ้าโอนข้ามธนาคาร)

ที่พูดๆ กันว่า “ตอนนี้รัฐบาลไม่รู้ ต่อไปรัฐบาลเห็นหมด” นี่ไม่ตรงกับความจริงนะครับ เพราะข้อมูลไม่ได้อยู่กับรัฐบาล และธนาคารกับ ITMX ก็เห็นข้อมูลเท่าที่เคยเห็นนั่นแหละ

และแน่นอนว่าการเสียภาษีอย่างเหมาะสม ตามรายได้ที่เราได้รับ เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศนะครับ 🙂

สรุปสั้นๆ ได้ไหม วันนี้ควรจะเดินไปสมัครพร้อมเพย์หรือเปล่า

เมื่อถึงต้นปีหน้า (2560) คนที่มีเงินคืนภาษี ก็คงไม่มีทางเลือก นอกจากจะผูกหมายเลขบัตรประชาชนกับบัญชีซักอันนึง เพื่อรับเงินภาษีคืน และก็เช่นเดียวกันสำหรับคนที่มีสิทธิรับเงินสวัสดิการต่างๆ

แต่นอกจากนั้นแล้ว ผมเห็นว่ายังไม่ต้องรีบอะไรครับ ผมยังเชื่อว่าระบบนี้มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย แต่ขอสังเกตว่าระบบเกิดขึ้นอย่างค่อนข้างเร่งรัด นโยบายจากรัฐบาลกำหนดวันที่เริ่มใช้งานมาให้ แต่ละธนาคารมีเวลาพัฒนาระบบกันไม่นานนัก และรายละเอียดของระบบในอนาคตก็ยังไม่ประกาศออกมาชัดเจน (เช่นระบบเรียกจ่ายเงิน [request payment] หรือระบบการยกเลิกการผูกหมายเลข) การเริ่มใช้เลยตั้งแต่วันแรก ก็เหมือนใช้ Beta product ถ้าใครสนใจอยากรู้ หรือมีธุรกรรมการโอนเงินจำนวนมากๆ ครั้ง ก็น่าใช้เพราะจะได้ประโยชน์จากค่าบริการที่ถูก ส่วนคนอื่นๆ รอนิดนึงคงไม่เสียหาย

ธนาคารก็คงไม่ได้อยากรีบใช้ระบบมากนักเหมือนกัน เพียงแต่ต้องรีบประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเลือกผูกหมายเลขกับบัญชีของธนาคารตัวเอง

สุดท้าย ประโยชน์ที่ชัดที่สุดของพร้อมเพย์ นั่นก็คือค่าบริการที่ถูกกว่าเดิมมาก คงจะเป็นตัวผลักดันการใช้งานให้แพร่หลายได้เอง และเวลาก่อนหน้านั้น น่าจะช่วยให้ธนาคารและ ITMX เกลาระบบและกระบวนการทำงานให้แน่นขึ้นครับ

เครดิตภาพ Magnified by Hase

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here