ตั้งแต่สมาคมธนาคารไทยเคาะค่าธรรมเนียมการโอนผ่านพร้อมเพย์ออกมา ว่าโอนเงินไม่เกิน 5 พันบาทไม่เสียค่าธรรมเนียม ก็มีการพูดถึงบริการใหม่อันนี้กันเยอะขึ้นมาก

ซึ่งความจริงค่าใช้จ่ายในการโอนเงินแบบอิเลคโทรนิกนี่น้อยมากอยู่แล้ว ส่วนการโอนเงินด้วยเงินสดนั้นมีค่าใช้จ่ายจริงมากกว่าเยอะ ต้องจ้างพนักงาน ต้องมีสถานที่ ต้องขนเงินสด ต้องรักษาความปลอดภัย ต่างๆ นาๆ  ที่ผ่านมาธนาคารคิดค่าธรรมเนียมแบบถัวเฉลี่ย เราก็เลยจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนเงินพอๆ กัน ไม่ว่าจะโอนด้วยวิธีไหน ต่อไปเมื่อการโอนแบบอิเลคโทรนิกถูกลง (ส่วนการโอนด้วยเงินสด ตอนนี้คงไว้เท่าเดิม แต่ต่อไปน่าจะแพงขึ้น) ก็เป็นแรงจูงใจที่ดีมากให้คนหันมาใช้วิธีใหม่กันมากขึ้น ซึ่งก็ได้ประโยชน์ทุกคน ทั้งคนทั่วไป บริษัทห้างร้าน ธนาคาร และรัฐบาล

เรื่องประโยชน์นี่มีหลายมิติ แต่วันนี้ผมอย่างพูดถึงการใช้งานพร้อมเพย์ในชีวิตจริงมากกว่า ว่าจะใช้กันยังไง เพราะเท่าที่คุยกับหลายคนปรากฎว่ายังไม่เห็นภาพชัดนัก

ในช่วงเริ่มต้น

ตอนนี้เราเห็นธนาคารโปรโมตชวนให้ลงทะเบียนพร้อมเพย์กันใหญ่ เพราะทุกธนาคารก็อยากให้คนมาผูก ID กับบัญชีของตัวเอง เพื่อเงินจะได้มาไหลผ่านบัญชี ซึ่งจะเริ่มให้ลงทะเบียนล่วงหน้าได้วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 และระบบจะลงทะเบียนให้จริงๆ เริ่มตั้งแต่ 15 กรกฎาคม 2559 แต่ลงทะเบียนแล้วยังใช้อะไรไม่ได้นะครับ

เท่าที่มีการประกาศออกมา เราจะเริ่มใช้พร้อมเพย์ได้จริงวันที่ 31 ตุลาคม 2559 โดยจะใช้โอนเงินระหว่างบุคคลได้เท่านั้น

คำถาม: โอนเงินด้วยพร้อมเพย์ทำยังไง

เหมือนเดิมทุกอย่างเลยครับ ไม่ต้องมีแอปใหม่ ไม่ต้องมีบัตรใหม่ใดๆ ทั้งนั้น

เมื่อระบบเปิดให้ใช้งาน เราก็จะใช้ช่องทางต่างๆ ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันนี่ล่ะ ไม่ว่าจะเป็น ATM, Internet Banking, Mobile Banking ที่ต่างไปคือแทนที่จะต้องใส่หมายเลขบัญชีผู้รับโอนอย่างเดียว ก็จะมีช่องให้เลือกใส่หมายเลขบัตรประชาชน หรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือ

(เห็นข้อมูลเพิ่มเติมว่าเดือนตุลมคม 2559 นี้ น่าจะใช้งานได้ผ่าน Mobile Banking ของทุกธนาคาร แต่ช่องทางอื่นเช่น ATM อาจใช้เวลาอีกนิด)

คำถาม: ต้องใช้พร้อมเพย์ทั้งสองฝ่ายมั๊ย

ถ้าฝ่ายที่รับโอนเงินลงทะเบียนใช้พร้อมเพย์แล้ว ฝ่ายที่จะโอนให้จะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ นึกภาพเราเดินไปที่ตู้ ATM แล้วโอนเงินให้ใครซักคน ขอให้เรารู้เบอร์บัญชีเค้าเราก็สามารถโอนได้ ต่อไปรู้ Prompt Pay ID ก็โอนได้เหมือนกันทุกอย่าง

คำถาม: แล้วถ้าโอนไปโดยใส่เบอร์โทรศัพท์มือถือ แต่คนรับเงินไม่ได้ใช้พร้อมเพย์ล่ะ

ในช่วงแรกถ้าเราพยายามโอนเงินโดยใส่ ID ที่ไม่ได้ผูกกับบัญชีธนาคารเป็นผู้รับ ITMX จะแจ้งกลับมาที่ธนาคารของเราว่า ID นี้ไม่ได้ผูกไว้ และการโอนนั้นจะถูกยกเลิก

ในช่วงต่อไป จะมีระบบ dangling account เพิ่มขึ้น อธิบายง่ายๆ คือเราสามารถโอนเงินไปที่ ID ที่ยังไม่ได้ผูกกับบัญชีไว้ก็ได้ แล้วเมื่อไหร่ที่ ID นั้นถูกนำไปผูกกับบัญชีธนาคาร เงินก็จะถูกโอนตามไป ระบบ dangling account นี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้คนใช้งานพร้อมเพย์ด้วย เช่นถ้าต่อไปเงินสวัสดิการหรือเงินคืนภาษีจ่ายด้วยการยิงไปที่หมายเลขบัตรประชาชนอย่างเดียว ถ้าใครไม่เอาไปผูกก็จะไม่ได้รับเงินนั้น

คำถาม: กลัวโอนผิดบัญชี

ช่องทางที่เราใช้โอน เช่น ATM หรือ Internet Banking จะแสดงชื่อเจ้าของบัญชีให้เราเห็นก่อนกดยืนยันโอนเงิน ในลักษณะเดียวกับการโอนเข้าบัญชีธนาคารโดยตรงในปัจจุบัน

NEXT: ชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ด้วยพร้อมเพย์

ตอนนี้ยังเห็นภาพไม่ชัดเจนเท่าไหร่ ว่าจะใช้งานยังไง แต่อาจจะเป็นการแจ้ง ID พร้อมเพย์ของเราไว้กับผู้ให้บริการ แล้วใช้ระบบการเรียกเก็บเงินที่จะพูดถึงในย่อหน้าถัดไป

NEXT: การเรียกเก็บเงิน เพื่อรองรับ e-Commerce

วิธีใช้งานคือ เมื่อเราเลือกซื้อของออนไลน์แล้วเลือกจ่ายเงินด้วยพร้อมเพย์ และใส่ ID ของเราเข้าไป ฝั่งร้านค้าจะส่งคำสั่งเรียกเก็บเงิน ผ่าน ITMX มายังธนาคารของเรา และเราจะต้องยืนยันการจ่ายเงินนั้นด้วยวิธีการบางอย่าง ซึ่งตรงนึ้แล้วแต่ว่าธนาคารที่เราใช้จะออกแบบยังไง เช่นอาจจะมี notification ขึ้นมาบนมือถือให้เรากด Approve ได้เลย หรือต้องไปกดที่ ATM ฯลฯ

NEXT: รับบริการจากภาครัฐ

เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีการรับหรือจ่ายเงินกับรัฐบาล ก็จะสามารถใช้พร้อมเพย์ได้ ซึ่งจะช่วยให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งตัวอย่างหลักที่ทุกคนนึกถึงคงเป็นเรื่องเงินสวัสดิการรัฐต่างๆ และภาษี

การโอนเงินสวัสดิการรัฐต่างๆ นั้นค่อนข้างตรงไปตรงมา จะเริ่มใช้ได้เลยช่วงเดือนกันยายนนี้ ใครที่ผูกหมายเลขบัตรประชาชนไว็ก็จะได้รับเงินโอนเข้าบัญชีโดยตรง ไม่ต้องรอเช็ค

ส่วนเรื่องภาษียังต้องมีระบบรองรับอื่นๆ อีกด้วย ดังนั้นยังไม่แน่ใจว่าจะเกิดได้ทันทีหรือเปล่า แต่เมื่อเสร็จแล้ว จะไม่ใช่แค่การจ่ายภาษีและรับเงินภาษีคืนผ่านบัญชีเท่านั้น แต่จะรวมถึงขั้นตอนการยื่นภาษี ใบเสร็จ/ใบกำกับภาษีที่ไม่ต้องเป็นกระดาษอีกต่อไป ซึ่งสำหรับบุคคลทั่วไปก็สะดวกดี และสำหรับบริษัทต่างๆ น่าจะมีประโยชน์มากทีเดียว

และการจ่ายค่าบริการต่างๆ เวลาติดต่อราชการ เช่นค่าทำใบขับขี่ ต่อทะเบียน ก็จะสามารถรับเงิน

NEXT: เพิ่มประเภท ID และประเภทบัญชี

ในช่วงเริ่มต้น ฝั่ง ID เปิดให้ใช้สองอย่างคือหมายเลขโทรศัพท์มือถือกับหมายเลขบัตรประชาชน ส่วน ID ประเภทอื่นๆ ที่น่าจะเปิดให้ใช้ได้ในอนาคตก็เช่น e-mail address

ในอีกขาหนึ่ง ในช่วงแรกเราต้องผูก ID กับบัญชีธนาคารอย่างเดียว แต่ในช่วงต่อไป (ซึ่งยังไม่มีวันที่ชัดเจน) เราจะสามารถผูก ID กับ e-wallet ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการอยู่เป็นสิบรายได้ด้วย เช่น

  • TrueMoney Wallet
  • AIS mPAY
  • กระเป๋าเงิน PAYSBUY
  • บัตรสมาร์ทเพิร์ส (Smart Purse)

เมื่อ e-wallet เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบพร้อมเพย์แล้ว อาจจะมีบทบาทมากขึ้น (ทำงานได้คล้ายบัญชีเงินฝากมากขึ้น)

แต่ในขณะเดียวกันก็มีโครงการขยายการใช้บัตรเดบิต ที่จะเพิ่มจำนวนเครื่อง EDC จาก 1 แสนเครื่อง เป็น 1-2 ล้านเครื่อง ให้ร้านค้าและหน่วยงานรัฐบาลมีใช้เกือบครบทุกแห่ง ก็เลยยังไม่ชัดเจนว่าระหว่าง บัตรเติมเงิน (e-wallet) กับบัตรรูดจ่ายเงิน (debit card) อย่างไหนจะเติบโตอย่างไร

Source:

National e-Payment
ThaiPublica – เปิดตัวบัญชี Any ID “พร้อมเพย์ – PromptPay ” ปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานบริการการเงินใหม่
AnyID: Security Point of View

 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here