ปีนี้กระแส FinTech มาแรงมากๆ ดูเหมือนผู้เล่นทุกสายไม่ว่าจะเป็น Startup ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเทคโนโลยี ต่างก็วิ่งเข้าหาจุดตัดของ การเงิน (Finance) และเทคโนโลยี (Technology) ซึ่งถึงเวลาที่จะถูก disrupt

แต่ธุรกิจการเงินแตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ ที่ tech startup เข้ามาจับในด้านหนึ่งที่สำคัญมาก นั่นก็คือการที่ผู้เล่นปัจจุบัน โดยเฉพาะธนาคาร มีการใช้เทคโนโลยีอยู่แล้วอย่างมาก เห็นได้ชัดจากค่าใช้จ่ายด้าน IT ของธุรกิจการเงิน ซึ่งสูงกว่าทุกๆ ธุรกิจอื่นในโลก ยกเว้นธุรกิจซอฟต์แวร์และอินเตอร์เน็ทเอง

ดังนั้นเราจึงเห็นผู้เล่นปัจจุบัน นั่นก็คือธนาคารต่างๆ รวมทั้งบริษัทประกันและ asset management ไม่ได้อยู่นิ่งๆ เป็นผู้ดูในขณะที่ tech startup เข้ามาแย่งส่วนแบ่ง หรือเปลี่ยนแปลงตลาด อย่างเช่นที่เราเห็นในธุรกิจอื่นเช่นค้าปลีก หรือธุรกิจโรงแรม แม้ว่าบริษัทอย่าง Paypal สามารถจะเติบโตขึ้นมาเป็นบริษัท payment รายใหญ่ของโลกโดยไม่มีการต่อต้านจากธนาคารมากนัก แต่เมื่อ tech startup เริ่มเข้ามาจับธุรกิจที่เป็นส่วนหลักของธนาคารมากขึ้น เช่น Lending ธนาคารก็ไม่สามารถจะอยู่นิ่งต่อไปได้ ปัจจุบันนี้เราเห็นธนาคารตั้ง Incubator Program มากมายไม่แพ้บริษัท Telecom นอกจากนั้นก็ยังเร่งการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วย มีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ให้ความสนใจเทคโนโลยีมากขึ้น

itspendingasapercentageofrevenuegartner

แต่ในการเปลี่ยนแปลงนี้ เราเริ่มจะเห็นรูปแบบปรากฏขึ้น ว่าแนวทางของผู้เล่นเดิม (ธนาคาร) กับผู้เล่นใหม่ (tech company) นั้นมีความแตกต่างที่ละเอียดอ่อนแต่มีความสำคัญอยู่ โดยขอเรียกตามคุณ Chris Skinner ว่าแนวทางที่หนึ่งคือ FinTech ส่วนแนวทางที่สองคือ TechFin

“FinTech is all about using technology to transform financial processes.”

chris-skinner
Chris Skinner, The Financial Services Club

สำหรับแนวทาง FinTech จุดเริ่มต้นคือ Technology คนที่คิดแบบ FinTech คือคนที่รู้จักเทคโนโลยีเป็นอย่างดี มีความคุ้นเคยกับ App, API, Analytics, Opensource และวิธีการทำงานแบบบริษัทเทคโนโลยี กลุ่มนี้จะมองบริการทางการเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น การกู้ยืม เงินฝาก การลงทุน การโอนเงิน และคิดว่าจะเอาเทคโนโลยีมาสร้างบริการพวกนี้ขึ้นใหม่ ให้ดีกว่าที่มีอยู่เดิมได้อย่างไร

ตัวอย่างเช่น Peer-to-Peer (P2P) Lending ซึ่งสร้างบริการกู้ยืมและเงินฝากขึ้นมาใหม่ ด้วยการเป็น platform รับเงินจากคนต้องการให้กู้ (ให้ดอกเบี้ยมากกว่าเงินฝากธนาคาร) และจับคู่กับคนต้องการกู้เงิน (จ่ายดอกเบี้ยน้อยกว่าจ่ายให้ธนาคาร) โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Mobile, Analytics) ช่วยลด overhead และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ธนาคารต้องจ่ายเพื่อให้บริการเงินกู้/เงินฝากแบบดั้งเดิม

แนวความคิดที่ต้องการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนตัวกลางแบบนี้ เป็นหนึ่งในแนวคิดหลักของสาย FinTech ซึ่งเทคโนโลยีเช่น blockchain ที่สามารถทดแทน central exchange ก็เป็นอีกตัวอย่างที่สำคัญ

ส่วนแนวทาง TechFin ซึ่ง Chris มองว่าเป็นวิธีการคิดของธนาคารนั้น ต่างไปตรงที่เป็นการมอง operation ปัจจุบันที่ธนาคารมีอยู่ และคิดว่าจะเอาเทคโนโลยีเข้ามาทำให้มันดีขึ้นได้อย่างไร

ตัวอย่างที่ค่อนข้างสุดขีดของแนวทางนี้ก็คือ High Frequency Trading (HFT) ซึ่งเป็นการใช้อัลกอริธึ่มตัดสินในซื้อขายหลักทรัพย์ และส่งคำสั่งซื้อขาย อย่างรวดเร็ว โดยจากข้อมูลตลาดที่เปลี่ยนแปลง – วิเคราะห์ – ส่งคำสั่ง ใช้เวลาเป็นหลัก millisecond เท่านั้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทั้งหมดมีอยู่แล้ว แต่การใช้เทคโนโลยีเข้ามา optimize ทุกๆ ขั้นตอนอย่างถึงที่สุด ทำให้ธุรกิจการค้าหลักทรัพย์เปลี่ยนไปอย่างมาก โดยปัจจุบันวอลุ่มการซื้อขายหุ้นในอเมริกาประมาณครึ่งหนึ่งมาจาก HFT

“TechFin begins with their existing operations and wonder how to improve those operations with technology.”

แต่นอกจากธุรกิจหลักทรัพย์แล้ว ธุรกิจหลักอื่นๆ ของมักให้ความสำคัญกับคุณภาพการบริการลูกค้า ความปลอดภัย เสถียรภาพ มากกว่า การจะเปลี่ยนระบบที่พนักงานสาขาใช้นั้นปกติใช้เวลาครั้งหนึ่งหลายๆ ปี เพื่อให้แน่ใจว่าจะทำงานกับระบบอื่นๆ ของธนาคารได้อย่างไม่ติดขัด พนักงานทุกคนได้รับการเทรน ระบบได้รับการทดสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เป็นต้น และที่สำคัญลูกค้าธนาคารมักไม่ค่อยชอบความเปลี่ยนแปลง เรามักจะเห็นบ่อยๆ ว่าเวลาธนาคารไหนปรับปรุง mobile banking site หรือ mobile app ก็มักจะได้ยินเสียงบ่นมากกว่าเสียงชม ถึงแม้ว่าโดยรวมจะพัฒนาดีขึ้นก็ตาม (UI อาจจะดีขึ้น แต่ลูกค้าบ่นว่า “ใช้ยาก” เพราะเมนูที่เคยใช้ไม่ได้อยู่ที่เดิม) นอกจากนั้นไม่ว่าธนาคารจะเปลี่ยนแปลงอะไร ถ้าในกระบวนการที่เปลี่ยนนั้นทำให้เกิดข้อติดขัด ล่าช้า บั๊ก มักจะเป็นเรื่องใหญ่กว่าเมื่อเหตุการณ์เดียวกันเกิดขึ้นกับ startup มาก

จากกติกาของธุรกิจที่ต่างกันนี่เอง ธนาคารจึงมักจะโฟกัสไปที่การใช้เทคโนโลยี “ปรับปรุง” สิ่งที่มีอยู่แล้วมากกว่าการ “เปลี่ยนแปลง”

ธนาคารจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาบริการและกระบวนการทำงานที่มีอยู่ให้ดีขึ้น แต่ธนาคารไม่สามารถจะคิดแบบ FinTech startup ทำแบบ Fintech startup ได้ซะทีเดียว เพราะลูกค้าธนาคารส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการแบบนั้น ไม่ใช่เพราะธนาคารเป็นไดโนเสาร์หรือตามกระแสเทคโนโลยีไม่ทัน

ผู้เล่นที่สำคัญอีกกลุ่มของสาย TechFin ก็คือบริษัท Enterprise IT ต่างๆ เช่น IBM, Oracle, Microsoft ซึ่งผู้เล่นกลุ่มนี้มีบทบาทเป็น Technology Provider เอาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาสร้างเป็น Solution และขายให้กับธนาคาร เช่นบริการ Blockchain-As-A-Service (BAAS) ของ Microsoft โดยท้ายที่สุดแล้ว อนาคตของกลุ่มนี้ก็ผูกอยู่กับอนาคตของธนาคารนั่นเอง ว่าจะดำรงอยู่อย่างไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร ในยุค FinTech ที่เพิ่งมาถึงนี้

เรียบเรียงจาก Fintech for Startups and Techfin for Bankers
รูปภาพ Young and Old, llantaytambo โดย Geraint Rowland

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here